เลือก เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง อย่างไรดี
เลือก เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง อย่างไรดี

เขียน/เรียบเรียง โดย ทีม Hello Khunmor
ทบทวนบทความ โดย แพทย์หญิงรุ่งนภา ลออธนกุล
ProMA 1583

หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเซลล์ที่ไม่สามารถดึงน้ำตาลที่เข้าสู่ร่างกายไปใช้เป็นพลังงานได้ ทำให้เกิดอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น อาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น  เมื่อเป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต

ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีผู้ที่เป็นเบาหวาน 4.4 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้เป็นเบาหวานจะต้องมีการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด มีการควบคุมอาหารที่บริโภคและต้องตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เป็นประจำ ว่าอยู่ในระดับใด และควบคุมได้ดีเพียงไร โดยปกติแล้วการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจะตรวจเวลาไหนก็ได้ เช่นตอนเช้าหลังจากอดอาหารมา 8-10 ชั่วโมง ก่อนอาหาร หลังอาหารแต่ละมื้อ หรือก่อนนอน ซึ่งค่าน้ำตาลที่เหมาะสมสำหรับการตรวจในแต่ละช่วงเวลาจะแตกต่างกัน

การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง คืออะไร

การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (Self-Monitoring of Blood Glucose หรือ SMBG) เป็นการให้ผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตัวเองในทุกที่ ทุกเวลา โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว แล้วหยดเลือดลงบนแถบทดสอบ และอ่านค่าด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Glucose Meter หรือ BGM) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยทราบถึงระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา หรือแต่ละวัน และช่วยให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อควบคุมค่าน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์

เลือก เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง อย่างไรดี

เครื่องตรวจระดับน้ำตาลมีหลายประเภท ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งการใช้ เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง จะช่วยให้ผู้ที่เป็นเบาหวานรู้ระดับน้ำตาลในเลือดของตัวเองในแต่ละช่วงเวลา หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์บ่อยๆ ก็จะได้ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร กิจกรรมในแต่ละวัน หรือใช้ค่าน้ำตาลที่บันทึกไว้ปรึกษากับแพทย์เพื่อทำการปรับยาให้เหมาะสม แต่การเลือกใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก็ต้องเลือกเครื่องที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และคำนึงถึงความเหมาะสมกับผู้ใช้ เพื่อที่จะได้ผลและค่าระดับน้ำตาลที่แม่นยำ คำแนะนำในการเลือกซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลมีดังนี้

  1. ความยาก-ง่ายในการใช้งานและการบำรุงรักษา ขนาดพกพาง่าย การใช้งาน ตัวเลขแสดงผลมองเห็นได้ชัดเจน
  2. ฟีเจอร์หรือฟังก์ชั่นการใช้งาน นอกจากการใช้งานที่ง่ายแล้ว เครื่องตรวจบางเครื่องอาจมีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไปในแต่ละผู้ใช้ เช่น  ช่วยให้ตรวจน้ำตาลในที่มืดได้ง่ายขึ้น หรือสามารถบันทึกช่วงเวลาที่ตรวจได้ว่าเป็นการตรวจน้ำตาลตอนเช้า ก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือก่อนนอน
  3. การจัดเก็บข้อมูลและแสดงผล เครื่องตรวจระดับน้ำตาลบางเครื่องสามารถจัดเก็บข้อมูลและรายงานผลเป็นสถิติให้เราทราบได้ว่าระดับน้ำตาลของเราสูงขึ้น หรือต่ำลงอย่างไรจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน บางเครื่องสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรือมือถือของคุณ เพื่อที่คุณจะได้ส่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่วัดได้ให้คุณหมอที่ดูแลได้ทันที
  4. เครื่องตรวจน้ำตาลที่ได้มาตรฐาน ต้องมีเอกสารแสดงคุณสมบัติของวัสดุ ควบคุมคุณภาพจากผู้ผลิตเครื่องตรวจระดับน้ำตาล ผ่านมาตรฐาน ISO 15197 ปี 2013
  5. บริการหลังการขาย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตัดสินใจว่าเครื่องของยี่ห้อนี้น่าซื้อหรือไม่ เช่น วีดีโอสาธิตการใช้งานเครื่องตรวจระดับน้ำตาล การให้คำปรึกษาหากการใช้งานมีปัญหา มีเบอร์โทรหรืออีเมล์สำหรับติดต่อสอบถาม

ที่มา

Blood glucose meter: How to choose
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/blood-glucose-meter/art-20046335

Choosing a Glucose Meter
https://www.healthline.com/health/type-2-diabetes/choosing-glucose-meter

ใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดให้เป็น
http://www.dmsc.moph.go.th/kmdmsc/userfiles/files/BloodCheck_DM.pdf

2 Responses

    1. https://www.dmthai.org/attachments/article/443/guideline-diabetes-care-2017.pdf เป้าหมายการคุมระดับน้ำตาลน้ำในเลือดขณะอดอาหาร 80-130 มก./ดล.
      และระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุดหลังทานอาหาร 1-2 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 มก./ดล. ค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *