โรคเบาหวานอาจส่งผลกระทบกับ ‘สุขภาพจิตที่ดี’ มากกว่าที่คิด ลองเช็กกันว่า ผลกระทบต่อสุขภาพจิตมีอะไรบ้าง และสามารถสังเกตสัญญาณและอาการได้อย่างไร ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานมักเริ่มต้นจากกลุ่มอาการที่คล้ายกัน เช่น ความรู้สึกเป็นทุกข์ (Distress) ภาวะหมดไฟในการรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes burnout) ภาวะการกินที่ผิดปกติ (Diabulimia) รู้สึกวิตกกังวล (Anxiety) ภาวะซึมเศร้า (Depression) ซึ่งเราสามารถสำรวจตัวเองเพื่อปรับการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับการดูแลโรคเบาหวานได้ไม่ยากเพื่อกลับคืนสู่สภาพการดำเนินชีวิตที่มีความสุขต่อไป
การดำเนินชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับการรักษาโรคเบาหวานอาจเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากแต่ละคนต่างมีวิธีปรับตัวต่อการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันไป แต่จุดเริ่มต้นขั้นตอนแรกในการเผชิญหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ คือการยอมรับถึงผลกระทบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและจิตใจแล้วในขณะนั้นๆ บทความนี้ เราจะชวนมาสังเกตกันว่าการเป็นโรคเบาหวานส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพทางด้านจิตใจด้านใดได้บ้าง และมาทำความรู้จักอาการและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งอาจมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของผู้มีภาวะเบาหวานไม่มากก็น้อย ซึ่งหากรู้ตัวได้ไวผู้ป่วยจะสามารถปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับการดูแลรักษาโรคได้ไม่ยากและสามารถกลับคืนสู่สภาพการดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป3
โรคเบาหวาน อาจส่งผลกระทบกับ ‘สุขภาพจิตที่ดี’ มากกว่าที่คิด ไม่ใช่เพียงการควบคุมระดับค่าน้ำตาลในเลือดและการจัดการอินซูลินเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพจิต หลายครั้งจึงอาจรู้สึกไม่สบาย มีนิสัยการนอนหลับที่เปลี่ยนไป อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง และหงุดหงิดง่าย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักรับรู้ถึงอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองหรือคนที่เรารัก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความทุกข์ทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน ผู้มีภาวะเบาหวานจำนวนมากต้องเผชิญกับสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไประหว่างการรักษาอาการซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของตนเองได้ ลักษณะอาการที่พบบ่อย ได้แก่
#1 รู้สึกเป็นทุกข์ (Distress)
การได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานอาจนำไปสู่ความเครียดและความรู้สึกทุกข์ หรือสามารถเกิดขึ้นจากความเครียดประจำวันในการจัดการกับโรคเบาหวาน ความรู้สึกทุกข์ที่ไม่สามารถระบายออกได้อาจนำไปสู่ “ภาวะหมดไฟในการรักษาโรคเบาหวาน” เมื่อเวลาผ่านไป การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเรียนรู้และรับมือกับความรู้สึกเป็นทุกข์ รวมถึงค้นหาการรักษาและจัดการกับสุขภาพจิตที่ถูกต้องนั้น เป็นกระบวนการสำคัญที่เป็นประโยชน์ที่ควรใส่ใจ เช่นเดียวกับการใส่ใจในวิธีการดูแลโรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การรู้สึกถึงความทุกข์ และขอความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ส่งผลดีต่อการดูแลโรคเบาหวานในระยะยาว
#2ภาวะหมดไฟในการรักษาโรคเบาหวาน (Diabetes burnout)
ภาวะหมดไฟจากโรคเบาหวาน เป็นความรู้สึกสิ้นหวังหรือถอดใจในการรักษาโรคเบาหวาน อาจนำไปสู่พฤติกรรมไม่ยอมฉีดอินซูลินหรือยาอื่นๆ หลีกเลี่ยงการตรวจสุขภาพ และละเลยสิ่งสำคัญในการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน เมื่อผู้มีภาวะเบาหวานเข้าสู่ ภาวะถอดใจในการดูแลตัวเองจากโรคเบาหวานาให้หายจากโรค อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามกิจวัตรและการดูแลโรคเบาหวานเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ติดตามระดับความเครียดควบคู่ไปกับระดับค่าน้ำตาลในเลือดเพื่อสังเกตอาการ ลองพูดคุยระบายความรู้สึกกับเพื่อนและคนในครอบครัวซึ่งเป็นวิธีที่อาจทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ หรือคุยกับคนที่เป็นโรคเบาหวานเหมือนกัน เพื่อช่วยให้คุณรู้สึกว่าไม่ได้สู้อยู่คนเดียว1,4
#3 ภาวะการกินผิดปกติ (Diabulimia)
มักเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หมายถึงการไม่ยอมฉีดอินซูลินเพื่อลดน้ำหนัก และอาจรวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ความเครียดเกี่ยวกับรูปร่าง วินัยในการกิน รวมถึงการออกกำลังกายมากเกินไป ภาวะการกินที่ผิดปกติ เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ แต่คนส่วนมากอาจไม่สังเกตเห็นอาการหรือไม่ทราบวิธีการจัดการกับภาวะผิดปกติเนื่องจาก Diabulimia ไม่ได้รับการจำแนกให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง การพูดคุยกับแพทย์เมื่อเกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณสามารถได้รับความช่วยเหลือ และไม่รู้สึกว่ากำลังสู้และสงสัยอยู่คนเดียว ทุกคนที่เป็นเบาหวานล้วนมีช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่ไม่ดี คุณอาจเคยจัดการกับโรคเบาหวานของคุณได้ดีแต่หากตอนนี้คุณรู้สึกเปลี่ยนไปอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ5
#4 วิตกกังวล (Anxiety)
ผู้ที่เป็นเบาหวานประเภท 1 หรือ 2 มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความผิดปกติในการกินอาหาร ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงสามารถนำไปสู่โรควิตกกังวลได้ สัญญาณเตือนให้ระวังคือ ความกังวลใจและความวิตกที่เหนือความควบคุมได้ ตัวสั่น กล้ามเนื้อตึง อาการหงุดหงิด และอาการตื่นตระหนก หากคุณรู้สึกเป็นทุกข์จากโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าโรคนี้มีคนเป็นอยู่จำนวนมาก และคุณไม่ควรโทษตัวเอง โรคเบาหวานเป็นเรื่องยากที่จะจัดการและไม่มีใครที่เก่งและทำได้ดีสมบูรณ์แบบ
#5 ภาวะซึมเศร้า (Depression)
อาการกระสับกระส่ายอย่างต่อเนื่อง รับประทานอาหารมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ปวดศีรษะ และ/หรือรู้สึกไร้ค่าเป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ อาจบ่งชี้ถึงภาวะซึมเศร้า และควรได้รับคำแนะนำทางการแพทย์ โรคเบาหวานอาจทำให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยแย่ลงได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มจะประสบกับภาวะซึมเศร้าระหว่างการรักษามากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป ภาวะซึมเศร้าจากเบาหวาน (diabetes distress) มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มอาการเครียด อาการซึมเศร้า และวิตกกังวล ซึ่งแตกต่างจากโรคซึมเศร้าทั่วไป เช่น ความกลัวและกังวลเกี่ยวกับภาวะระดับค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ (fear of hypoglycemia) อีกทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การสนับสนุนจากครอบครัว อิทธิพลทางสังคมสภาพแวดล้อม และการได้รับบริการดูแลสุขภาพก็ส่งผลต่อ ภาวะซึมเศร้าจากเบาหวานเช่นกัน การวิจัยประมาณการว่าร้อยละ 33 ถึง 50 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคเบาหวาน แม้ว่าการใช้ยาอาจไม่ใช่วิธีรักษาภาวะซึมเศร้าจากเบาหวานเช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ลองปรับวิธีการรักษาโรคเบาหวานเพื่อลดความเครียด การพูดคุยให้มากขึ้นหรือการเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นแนวทางการรักษาที่เป็นประโยชน์ได้1
บทสรุป:สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าการใช้ชีวิตร่วมกับโรคเบาหวานไม่ใช่แค่การต่อสู้ทางร่างกาย แต่เป็นการต่อสู้ทางภาวะอารมณ์หรือสุขภาพจิตใจด้วยเช่นกัน เมื่อเริ่มรู้สึกไม่โอเคแม้เพียงเล็กน้อย การทำความเข้าใจเพื่อก้าวข้ามผ่านความรู้สึกและอารมณ์ทุกข์ การขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากคนรอบข้างเพื่อลดผลกระทบทางอารมณ์และสภาพจิตใจที่แปรปรวนนับเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้มีภาวะเบาหวานรู้สึกดีขึ้นได้เพราะบางครั้งคุณอาจคิดว่าโอเค แต่ข้างในอาจไม่โอเคก็ได้ หากคุณหรือคนรอบข้างมีภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากโรคเบาหวานเราสามารถช่วยเหลือให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ ลองสำรวจตัวเองและคนรอบข้างดู คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับความไม่โอเคนี้เพียงลำพัง3
รายการอ้างอิง:
- Diabetes and Mental Health, https://www.mhanational.org/diabetes-and-mental-health#4
- ภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย (Psychosocial aspect of illness), ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล,
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/05302015-1735
- what is diabetes distress and burnout?, https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/emotions/diabetes-burnout
diabulimia and diabetes, https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/life-with-diabetes/diabulimia
BB35180