ในปี 2565 มีคนไทยเป็นเบาหวานกว่า 6.06 ล้านคน โดยเป็นคนวัย 35 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ประชากรอีก 8 ล้านคนยังเข้าไม่ถึงระบบคัดกรองโรคเบาหวาน และทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 537 ล้านคน ซึ่งในทุกๆ 5 วินาที จะมีประชากรจากไป 1 รายจากโรคเบาหวาน เพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคเบาหวาน จึงกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” และมีการรณรงค์ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
วันเบาหวานโลก มีความเป็นมาอย่างไร
วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ตรงกับวันที่ 14 พ.ย. ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของระดับน้ำตาลในเลือดและสุขภาพ และเป็นการฉลองครบรอบวันเกิดของเซอร์ เฟรเดอริก แบนติง ผู้ร่วมกับ ชาร์ลส์ เบสต์ ซึ่งค้นพบอินซูลิน (ยารักษาโรคเบาหวาน) ในปี พ.ศ. 2465 วันเบาหวานโลกได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) มีสัญลักษณ์เป็นวงกลมสีฟ้าสื่อถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของผู้ที่เผชิญภาวะเบาหวานทั่วโลก วงกลมหมายถึงสัญลักษณ์แห่งชีวิต สุขภาพ และการร่วมมือกัน ส่วนสีฟ้าเป็นสีที่สื่อถึงท้องฟ้าทั่วทั้งโลก เป็นหนึ่งเดียวกันของประชากรโลก
ในแต่ละปีจะมีคำขวัญวันเบาหวานโลก หรือประเด็นที่รณรงค์กันในช่วงปีนั้นๆ และในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2566 ทางสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้มีการตกลงกันถึงประเด็นที่จะรณรงค์ คือเรื่อง ACCESS TO DIABETES CARE: การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร”
ACCESS TO DIABETES CARE: การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร”
ในประเทศไทยปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา มีประชากรถึง 8 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบคัดกรองโรคเบาหวาน ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ มักจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและเชิญชวนให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสุขภาพและคัดกรองวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อตรวจหาโรคเบาหวาน และหากพบค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินเกณฑ์ คือ ≥126 มก./ดล. ซึ่งเป็นค่าน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แต่หากไม่ได้อดอาหารสำหรับเบาหวานมาก่อน สามารถเจาะตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสได้ โดยใช้ค่า 200 มก./ดล.เป็นเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นค่าวินิจฉัยของการตรวจเบาหวาน หากมากกว่านี้จะนำไปสู่ภาวะเบาหวาน และมีการเข้าถึงการรักษาตามลำดับถัดไป
จากการรณรงค์วันเบาหวานโลกในเรื่อง ACCESS TO DIABETES CARE: การเข้าถึงการดูแลโรคเบาหวาน “ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ แล้วจะต้องเมื่อไร” จึงสามารถแยกย่อยออกเป็น 5 ประเด็นได้ ดังต่อไปนี้
- การเข้าถึงอินซูลิน
- การเข้าถึงยารักษาโรคเบาหวาน
- การเข้าถึงการติดตามผล การดูแลด้วยตนเอง
- การเข้าถึงความรู้ การดูแลทางด้านจิตใจ
- การเข้าถึงอาหารสำหรับเบาหวานเพื่อสุขภาพและสถานที่ออกกำลังกายที่ปลอดภัย
กิจกรรมวันเบาหวานโลก สร้างความตระหนักทำความรู้จักโรคเบาหวาน
กิจกรรมวันเบาหวานโลกที่ถูกจัดขึ้นจะเป็นเกี่ยวกับงานสัมมนา งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ป่วยเบาหวานในเรื่องการดูแลตัวเอง กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอน จัดทำคู่มือการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อเป็นการให้ความรู้ประชาชน เป็นต้น
โดยทุกปีในวันเบาหวานโลกตามสถานพยาบาลบางที่ จะจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์และกระตุ้นความตระหนักถึงอันตรายของภาวะเบาหวาน เพื่อให้คนมาตรวจสุขภาพและวัดระดับน้ำตาลในเลือดกันมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โดยประเด็นหลักๆ ที่มักจะนำมากระตุ้นความสนใจของประชาชนนั้น ได้แก่
– เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงของโรคเบาหวาน
– ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคเบาหวาน
– การประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน
– สัญญาณเตือนภัยโรคเบาหวาน
– วิธีลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
– การดูแลตนเองเมื่อเป็นเบาหวาน
– การป้องกันโรคแทรกซ้อน
อาการของโรคเบาหวาน เริ่มสังเกตเองได้ไม่ยาก
อาการของโรคเบาหวานนั้นสามารถสังเกตถึงความผิดปกติที่เปลี่ยนแปลงไปได้ในชีวิตประจำวัน หลายอาการค่อยๆ สะสมการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย หลายอาการที่เห็นได้อย่างฉับพลัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการสังเกตร่างกายของแต่ละคนด้วย อาการเด่นๆ ของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้
อาการของผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง คือ หิวบ่อย รับประทานเก่งขึ้น กินจุ, คอแห้ง, กระหายน้ำทำให้ดื่มน้ำมากขึ้น เกี่ยวกับการขับถ่ายคือ ปัสสาวะกลางคืน ส่งผลทำให้เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย, น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างผิดปกติ, ผอมลงฉับพลัน อาการของโรคเบาหวานที่เกี่ยวกับผิวหนังคือ เมื่อเกิดแผลจะหายยาก, คันตามผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ รวมไปถึงระบบประสาทที่ทำให้ตาพร่ามัว, ชาปลายมือปลายเท้า และความรู้สึกทางเพศลดลง
หากพบเห็นถึงความผิดปกติของร่างกายตามข้อเหล่านี้ สิ่งที่ควรทำในลำดับถัดไป คือการเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำหรับเบาหวานและการใช้ชีวิตประจำวันโดยด่วน
บทสรุป:
โรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่พบมากในปัจจุบัน ซึ่งในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอันตรายอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคในกลุ่ม NCDs จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน โดยหากพบว่าเป็นแล้ว สามารถตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดด้วยตัวเองเป็นประจำ เพื่อลดความรุนแรงอันสามารถเกิดได้จากโรคแทรกซ้อน
และถึงแม้ว่าโรคเบาหวานจะเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันได้ 100% แต่การปรับพฤติกรรมการบริโภคและดูแลตัวเอง ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดการทานของหวาน ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีไม่ขาด หากเรารู้ตัวไว จะเบาใจ ไม่เบาหวานได้นั่นเอง
อ้างอิง:
- นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- กองโรคไม่ติดต่อ /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
- ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
Ref.
- https://theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/?page=%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-world-diabetes-day
- https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/181256/
- https://www.pptvhd36.com/health/news/3040
- https://www.thairath.co.th/news/politic/2702795
BB34772