วันเบาหวานโลก วันแห่งการตระหนักถึงโรคเบาหวาน โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ประเทศไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2568 โดยจะมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดและจะมีผู้สูงอายุ 1 คนในทุกๆ 5 คนเป็นโรคเบาหวาน

นอกจากโรคเบาหวานจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแล้ว ผู้ที่มีอายุน้อยก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (NHES V) พบความชุกของโรคเบาหวานในประเทศไทยในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปีพ.ศ.2552

เป็น ร้อยละ 8.9 ในปี พ.ศ.2557 ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

โรคเบาหวานจึงถือเป็นหนึ่งโรคใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และสาเหตุของโรคเบาหวานก็มีหลายสาเหตุ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานตามมาได้มากมาย เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด

เพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคเบาหวาน จึงมีการกำหนดให้วันที่ 14 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” โดยวันเบาหวานโลกเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2534 จากความร่วมมือจากสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (IDF) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหประชาชาติ (UN) โดยเหตุผลที่กำหนดให้วันเบาหวานโลกตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันเกิดของ Frederick Banting ผู้ค้นพบอินซูลิน (ยาฉีดลดน้ำตาลในเลือดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบัน)

วันเบาหวานโลกมีสัญลักษณ์ที่แฝงความหมายอันลึกซึ้ง เป็นวงกลมสีฟ้าที่สื่อถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของผู้ที่เผชิญโรคเบาหวานทั่วโลก วงกลมคือสัญลักษณ์แห่งชีวิต สุขภาพ และการร่วมมือกัน ส่วนสีฟ้าเป็นสีที่สื่อถึงท้องฟ้าทั่วทั้งโลก เป็นหนึ่งเดียวกันของประชากรโลก สำหรับจุดประสงค์ของวันเบาหวานโลกมีขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพไม่ให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุของโรคเบาหวาน สัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน และการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

วันเบาหวานโลก

โรคเบาหวานโรคที่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายโรค โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย มีผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนมากมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกติ ทั้งภาวะเเทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา ภาวะแทรกซ้อนที่ไต ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เส้นประสาท และภาวะเเทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้เกิดแผลที่เท้าในผู้ที่มีภาวะเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานนั้นเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานทุกคน โดยภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างอันตรายอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสิ่งที่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ เพราะโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจโดยตรง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้โดยเมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากโรคเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และหากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อันตรายเป็นอย่างมาก

และจากข้อมูลการศึกษา Thai Registry in Acute Coronary Syndrome (TRACS) ปัจจัยเสี่ยงของคนไทยที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจ คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 83.2 ภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59.5 โรคเบาหวาน ร้อยละ 50.7 การสูบบุหรี่ ร้อยละ 32.1 และครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 9.3 จะเห็นได้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาถึงร้อยละ 50.7 ทุกภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษา รวมถึงอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรตระหนักถึงความสำคัญและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่วันนี้

โรคเบาหวาน

รู้ทันโรคเบาหวานได้ แค่เช็กระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

การเช็กระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหนึ่งวิธีตรวจเบาหวานที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีโอกาสเป็นโรคเบาหวานหรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานหรือไม่

และถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการรักษาโรคเบาหวาน ที่ผู้เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติหรือใกล้เคียงระดับปกติเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหรือตรวจเบาหวานด้วยเครื่องตรวจเบาหวานตอนเช้าหลังอดอาหารข้ามคืนมากกว่า 8 ชั่วโมง สามารถพิจารณาค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ดังนี้

– ค่าระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มก./ดล. : ภาวะปกติ

– ค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. : ภาวะก่อนเบาหวาน

– ค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มก./ดล. : โรคเบาหวาน

หากตรวจพบค่าน้ำตาลสูงเกินเกณฑ์ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาการดูแลตนเองที่เหมาะสมต่อไป

เช็กระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาล เพื่อให้รู้ทันโรคเบาหวานและเตรียมปรับพฤติกรรมสำหรับการดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพราะยิ่งรู้ตัวเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้เร็วขึ้นเท่านั้น

โรคเบาหวาน

เช็กและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

นอกจากการเช็กระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาลแล้ว ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายคนเมื่อเป็นโรคเบาหวานก็อาจรู้สึกเป็นกังวล ใช้ชีวิตแบบไม่มีความสุขเหมือนแต่ก่อน แต่จริงๆ แล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตไม่ได้ยากอย่างที่คิด ทุกคนสามารถทำได้เพื่อที่จะอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข

วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกับโรคเบาหวาน

– ปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ เช่น การเปลี่ยนมากินอาหารทางเลือกในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาล

– เพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการเดินหรือทำงานบ้าน

– ส่งเสริมพฤติกรรมอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา

โรคเบาหวาน

บทสรุป:

โรคเบาหวานเป็นโรคใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี จากข้อมูลของสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติที่มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2573 จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน ซึ่งหากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานตามมาได้มากมาย เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต  โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคเบาหวานอย่างจริงจัง เริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการดูแลตัวเอง เช่น  เช็กระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน และเพื่อเตรียมปรับพฤติกรรมสำหรับการดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง อยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้ไม่ยากอย่างที่คิด แค่เช็กและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อ้างอิง:

  1. แนวทางเวชปฎิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566  กระทรวงสาธารณสุข
  2. โรงพยาบาลท่าตูม กระทรวงสาธารณสุข
  3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
  4. กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
  5. ศูนย์เบาหวานศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล

BB39020

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *