วันหัวใจโลก วันแห่งการตระหนักถึงความรุนแรงของโรคหัวใจ โรคที่ส่งผลต่อสุขภาพคนทั่วโลก

วันหัวใจโลกตรงกับวันที่ 29 ก.ย. ของทุกปี เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงของโรคหัวใจ โรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

จากรายงานการเสียชีวิตขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี พ.ศ. 2559 พบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 56.9 ล้านคน โดยโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ประมาณการมีผู้เสียชีวิต 9.2 ล้านคน สำหรับประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 16.2  การสูญเสียปีสุขภาวะจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและความบกพร่องทางสุขภาพพบว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะลำดับที่ 4 ในเพศชาย และลำดับที่ 3 ในเพศหญิง

จากข้อมูลทั้งการเสียชีวิตและการป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น การมีภาวะความดันโลหิตสูง การมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ และหนึ่งในนั้นคือโรคเบาหวาน

จากข้อมูลการศึกษา Thai Registry in Acute Coronary Syndrome (TRACS) ปัจจัยเสี่ยงของคนไทยที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจ คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 83.2 ภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 59.5 โรคเบาหวาน ร้อยละ 50.7 การสูบบุหรี่ ร้อยละ 32.1 และครอบครัวมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 9.3 จะเห็นได้ว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมและภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาถึงร้อยละ 50.7

วันหัวใจโลก

โรคเบาหวาน จุดเริ่มต้นของโรคหัวใจที่อาจรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว

จากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงของผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจจะเห็นได้ว่าโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาถึงร้อยละ 50.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรตระหนักถึงความสัมพันธ์และความรุนแรงของทั้งโรคเบาหวานและโรคหัวใจกันมากขึ้น

โดยโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ เนื่องจากโรคเบาหวานทำให้เกิดความเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันสูงกว่าประชาการทั่วไปหลายเท่าตัว ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้โดยเมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากโรคเบาหวาน ร่วมกับการที่มีไขมันในเลือดสูง ก็จะทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด และหากอุดตันก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานบางรายกล้ามเนื้อหัวใจทำงานน้อยกว่าปกติและบีบตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่ได้ตีบตัน กลุ่มนี้เชื่อว่าเกิดจากหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากโรคเบาหวาน

ดังนั้นหากเมื่อเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ดูแลสุขภาพ ไม่สังเกตร่างกายตัวเองหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจตามมาได้สูงดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วย

นอกจากนี้ จากสถิติของผู้มีภาวะเบาหวาน ชนิดที่ 2 พบว่า 8 ใน 10 ของผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

โรคหัวใจ

เช็กอาการภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะที่ผู้เป็นโรคเบาหวานควรระวัง

ภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคเบาหวานเกิดขึ้นจากเมื่อหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจเสื่อมจากโรคเบาหวาน มีส่วนทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดกลับเข้าหัวใจได้ตามปกติหรือทำให้หัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตประจำวัน โดยภาวะหัวใจล้มเหลวมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้ 

  1. อาการเหนื่อย เช่น อาการเหนื่อยขณะที่ออกแรง อาการเหนื่อยจากการหายใจไม่สะดวกขณะนอนราบ หรือหายใจไม่สะดวกขณะนอนหลับและต้องตื่นขึ้นเนื่องจากอาการหายใจไม่สะดวก
  2.  อาการบวมในบริเวณส่วนล่างของร่างกาย เช่น เท้า ขา เป็นลักษณะบวม กดบุ๋ม
  3. อาการอ่อนเพลีย เนื่องจากการที่มีเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง ทำให้สมรรถภาพของร่างกายลดลง
  4. อาการแน่นท้อง ท้องอืด เนื่องจากตับโต จากเลือดคั่งในตับ มีน้ำ ในช่องท้อง และอาจพบอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย

ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นอันตรายมาก ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรต้องตระหนักถึงอันตรายและสังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนจากร่างกายอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อรักษาอย่างทันท่วงที โดยการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นมีหลายวิธี เช่น การตรวจ NT-pro BNP (N-terminal pro BNP) ในกระแสเลือด ที่จะช่วยให้วินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวได้แม่นยำขึ้น มีประโยชน์ในการแยกผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว ออกจากผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยจากสาเหตุอื่น เช่น โรคปอด เป็นต้น

วันหัวใจโลก

วิธีเช็กและดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเป็นหนึ่งโรคที่น่ากลัวและอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานในอันดับต้นๆ 

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตตัวเองและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ดังนี้

ผู้มีภาวะเบาหวานควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพราะจะช่วยชะลอการเสื่อมของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายได้ รวมถึงค่าระดับน้ำตาลเฉลี่ยในรอบ 3 เดือน โดยดูจากน้ำตาลที่เกาะบนเม็ดเลือดแดงว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่และหากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจก็ควรต้องควบคุมเป็นพิเศษ เช่น การงดบุหรี่ ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ ควบคุมระดับไขมัน โคเลสเตอรอล เป็นต้น และเมื่อมีอายุมากขึ้น ควรทำการตรวจสมรรถภาพหัวใจอย่างละเอียด เช่น อัลตราซาวด์ หัวใจและการเดินสายพาน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นรายบุคคล) เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้นและรู้ตัวอีกทีเมื่อมีอาการมากแล้ว 

นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรจะตรวจหาภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานด้วยการตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อให้รู้เท่าทันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย เช่น การตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียด ทั้งการตรวจสุขภาพเท้า ตรวจสุขภาพตา ตรวจสุขภาพช่องปากและตรวจสุขภาพฟัน โดยทันตแพทย์ รวมถึงตรวจปัสสาวะและค่าไต เป็นต้น

โรคเบาหวาน

บทสรุป:

จากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงของผู้ที่เข้ารับการรักษาโรคหัวใจจะเห็นได้ว่าโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจตามมาถึงร้อยละ 50.7 จึงเรียกได้ว่าโรคเบาหวานเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา ดังนั้นหากเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ดูแลสุขภาพหรือไม่สังเกตร่างกายตัวเองก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหัวใจตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงควรตระหนักถึงความรุนแรงและความสัมพันธ์ระหว่างโรคหัวใจและโรคเบาหวานเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการดูแลและสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงเข้ารับการตรวจเพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงเพื่อให้รู้เท่าทันโรคทั้งสอง

อ้างอิง:

  1. กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
  2. งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลท่าตูม
  3. แนวทางเวชปฎิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566  กระทรวงสาธารณสุข
  4. Heart Failure ภาวะหัวใจล้มเหลว โดย นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี
  5. คู่มือการดูแลผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังแบบบูรณาการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. Gray RP et al. In Textbook of Diabetes 2nd Edition

BB38623

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *